ประวัติความเป็นมา

(โดย ครูปรีดา ทัศนประดิษฐ์)

          คณะแพทยศาสตร์มีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ ลูกหลานของครอบครัวคือนิสิต แพทย์ประจำบ้าน คือพี่รุ่นใหญ่ อาจารย์คือพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ตามลำดับความอาวุโส คณบดีคือประมุขของครอบครัว ความพิเศษของคณะแพทยศาสตร์ คือ ไม่มีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง ต้องอาศัยอยู่กับสภากาชาดไทย คือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับสภากาชาดไทย ตั้งแต่ครั้นการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ว่า สภากาชาดไทยอนุญาตให้ตั้งคณะแพทยศาสตร์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อร่วมมือกันในการผลิตแพทย์ พยาบาลและให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และสถานภาพทางสังคม คณบดีจึงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย

          การบริหารงานเกี่ยวกับนิสิต เป็นงานหลักงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2505 - 2514 ผู้รับผิดชอบงานด้านนี้อยู่ในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายปกครอง ซึ่งความรับผิดชอบมีมากกว่าการปกครอง ภายหลัง พ.ศ. 2514 ได้เปลี่ยนเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จนถึงปัจจุบันชื่อนี้จึงตรงกับความรับผิดชอบ ระดับคณะชื่อก็เปลี่ยนจากรองคณบดีฝ่ายปกครอง เป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต

          วิชาชีพแพทย์เป็นวิชาที่ต้องปลูกฝังผู้เรียน ทั้งวิชาการ หัตถการ ทักษะต่างๆ และจิตวิญญานแห่งการเป็นแพทย์ ลำพังหลักสูตรอย่างเดียวไม่อาจพัฒนาผู้เรียน ให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวได้ คณะจึงส่งเสริมให้นิสิตได้ทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ควบคู่ไปกับการเรียน ด้วยเหตุที่วิทยาเขตของจุฬาฯ รวมอยู่ที่เดียวกัน นิสิตจึงได้รู้จักนิสิตต่างคณะจากการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการเปิดโลกทรรศน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้การมีหอพักประจำอยู่ในคณะก็มีความจำเป็นและสำคัญยิ่ง เพราะการเรียนการสอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจึงตรงกับที่เรียกผู้เรียนว่า “นิสิต” ซึ่งมีความหมายว่า เรียนและอาศัยอยู่ที่สำนักเรียน ครูกับศิษย์จึงใกล้ชิดกัน เสมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน งานหอพักจึงอยู่ในความดูแลของฝ่ายกิจการนิสิตด้วย ที่ตั้งหอพักอยู่ในบริเวณเดิมมาตลอด คืออยู่ด้านหลังเขตติดต่อกับราชกรีฑาสโมสร แต่เดิมสิ่งก่อสร้างในโรงพยาบาลไม่เต็มพื้นที่เช่นปัจจุบัน ถัดจากหอพักก็เป็นสนามฟุตบอล สนามเทนนิสก็อยู่บริเวณนั้น เรียกได้ว่าเป็นเขตแดนของนิสิต ทั้งการออกกำลังและการทำกิจกรรม การจัดงานต่างๆ ของคณะ โรงพยาบาลและของนิสิต ก็จัดขึ้นที่สนามฟุตบอล มีความเป็นสัดส่วนถึงแม้จะอึกกะทึกอย่างไรก็ไม่รบกวนใคร

          สำหรับที่ตั้งสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (สพจ.) ฝ่ายและชมรมต่างๆ คณะได้จัดให้อยู่ชั้นล่างทั้งหมดของสำนักงานคณบดี ซึ่งเป็นตึกสองชั้น เมื่อคณะแพทยศาสตร์ต้องขยายตัว จึงรื้อตึกสำนักงานคณบดี สร้างเป็นอาคารสูงขึ้น คืออาคารอานันทมหิดล อีกทั้งสร้างอาคารให้นิสิตใหม่ 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ชั้นบนเป็นฝ่ายต่าง ๆ สำหรับทำกิจกรรมของนิสิต เรียกกันว่าอาคาร”ไผ่สิงโต” ตามชื่อคลองที่กั้นระหว่างเขตโรงพยาบาลกับราชกรีฑาสโมสร ปัจจุบันคลองนี้ถมเสียแล้ว เช่นเดียวกับอาคารไผ่สิงโตเดิมที่รื้อออกเมื่อ พ.ศ.2554 เพื่อใช้พื้นที่สร้างหอพักพัฒนาคณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ได้ปรับปรุงและยกหอพักชายเดิม ซึ่งเป็นอาคาร 6 ชั้น ให้เป็นที่ทำกิจกรรมของนิสิตแทน แต่ยังคงชื่อ “ไผ่สิงโต” ไว้ ส่วนหอพักชายก็ได้สร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2544 ชื่อหอพัก “ปรีดาลัย” และมีสนามแบดมินตันอยู่บนหอพักด้วย เพื่อทดแทน “โรงยิมปรีดา” เดิมซึ่งรื้อออกไปเพื่อสร้างหอพักชาย

          นอกจากอาคารทำกิจกรรมและหอพักแล้ว ฝ่ายกิจการนิสิตยังมอบหมายอาจารย์เป็นที่ปรึกษา ร่วมทำกิจกรรมกับนิสิตด้วย เป็นต้นว่า กิจกรรมอาสาพัฒนาช่วงหยุดพักภาคการศึกษาฤดูร้อน คือไปพักที่โรงเรียน และตั้งค่ายสอนหนังสือรวมทั้งนำสันทนาการให้กับเด็กๆ และจัดให้มีการออกหน่วยตรวจโรคให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพอีกด้วย โดยชวนแพทย์รุ่นพื่ไปช่วย ช่วงนั้นการหยุดภาคเรียนนานเป็นเดือน จึงมีเวลาอยู่ทำกิจกรรมในค่ายได้นาน นอกจากนี้นิสิตเคยมีชมรมยูโดได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องกันมาหลายปี และกีฬาที่ทำชื่อเสียงให้กับคณะแพทยศาสตร์เพราะชนะการแข่งขันมีหลายประเภท เป็นต้นว่า บริดจ์ วอลเลย์บอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ ทีมโต้วาทีก็เคยชนะเลิศในระดับมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาสมาชิกทีมนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ที่คณะอีกด้วย

          ทางด้านศิลปวัฒนธรรมม มีครูมาช่วยสอนดนตรีไทย สามารถแสดงออกงานได้เป็นประจำ มีช่วงหนึ่งที่ทุกปีอาจารย์นำสมาชิกฝ่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมกับศานติธรรมไปทัศนศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่ต่างจังหวัด และนำกรณีศึกษาทางด้านธรรมะมาอภิปราย อีกครั้งคณะได้สนับสนุนให้นิสิตจัดกิจกรรมตักบาตรทุกเช้าวันอังคาร สำหรับผู้สนใจที่ลานอาคารอานันทมหิดลด้วย กิจกรรมนี้ไม่หยุดแม้ในช่วงปิดภาคเรียนในปี พ.ศ. 2554 ฝ่ายกิจการนิสิตเป็นส่วนร่วมหลักของแพทยสภา ในการจัดทำจรรยาบรรณสำหรับนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทยอีกด้วย

          มีกิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์และศิษย์ได้สนุกร่วมกัน คืองานวัน “AT HOME” แนวคิดคือเป็นวันสบายๆ คนในครอบครัวมาร่วมชุมนุมกัน ตอนบ่ายเล่นกีฬาสนุกๆ ร่วมกันที่สนามฟุตบอล ตกเย็นก็ล้อมวงกินข้าวร่วมกัน ลักษณะงานนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปตามสภาพของสังคม

          การทำกิกรรมนอกหลักสูตรเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตได้พัฒนาตนในทุกๆ ด้าน เพื่อเป็นแพทย์ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษา ป้องกัน “โรค” แต่เป็นการดูแลรักษา “มนุษย์” อย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร

ทำเนียบรองคณะบดีฝ่ายกิจการนิสิต

ปี พ.ศ.2516 - 2519

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงภิรมย์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

ปี พ.ศ.2520 - 2523

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ

ปี พ.ศ.2524 - 2527

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์

ปี พ.ศ.2528 - 2531

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปรีดา ทัศนประดิษฐ

ปี พ.ศ.2532 - 2535

รศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สุจินต์ อึ้งถาวร

ปี พ.ศ.2536 - 2539

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ศิริทรัพย์

ปี พ.ศ.2540 - 2543

ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิงธาดา สืบหลินวงศ์

ปี พ.ศ.2544 - 2547

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อัมพล สูอำพัน

ปี พ.ศ.2547 - 2553

รองศาสตราจารย์ จันทนี อิทธิพานิชพงศ์

ปี พ.ศ.2553 - 2558

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ธนวัฒนาเจริญ

ปี พ.ศ.2558 - 2563

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์

ปี พ.ศ.2563 - ปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นายแพทย์สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก